โครงการปลูกป่า : ป่าภูหลง

ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช.การช่าง ได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนพื้นที่บริเวณป่าภูหลง เพื่อการฟื้นฟูและรักษาพื้นที่ป่า พื้นที่ป่าภูหลงเดิมทีนั้นเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ เป็นป่าต้นน้ำสายหลักของภาคอีสาน คือ ต้นแม่น้ำชี แม่น้ำลำปะทาว และแม่น้ำน้อยใหญ่อีกจำนวนมาก มีพันธ์ไม้ป่าที่หลากหลาย รวมไปถึงสมุนไพรพื้นถิ่น ซึ่งภายหลังจากระยะเวลาสัมปทานสิ้นสุดลงนั้น ชาวบ้านในพื้นที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของไม้ใหญ่ในธรรมชาติจึงเข้ามาฟื้นฟูด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านและป่าภูหลงก็ได้ถูกนับว่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ แล้วจึงเริ่มมีการชักชวนกันขององค์กรเอกชน ในการเข้ามาปลูกป่าและฟื้นฟูพื้นที่โล่ง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง พัฒนามาเป็นโครงการความร่วมมือ ร่วมกับหน่วยงานป่าไม้ อุทยาน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด วัดในพื้นพื้นที่และคณะกรรมการป่าชุมชน อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าภูหลงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์สูง ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าแต้ ไม้พยุง ไม้ยางนา เป็นต้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาบุกรุกหาผลประโยชน์ ตัดไม้ทำลายป่าและนายพรานที่เข้ามาล่าสัตว์ จนเกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งก็คือ ไฟไหม้ป่า
ในปี พ.ศ. 2559 เกิดไฟไหม้ป่าชุมชนรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 3,000 ไร่ รวมทั้งเกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง และควันไฟทั่วบริเวณพื้นที่และยังส่งผลต่อแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้านในพื้นที่ และในเวลาไม่ถึง 5 ปีถัดมา พ.ศ. 2563 ป่าภูหลงก็ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้พื้นที่ป่าเสียหายมากกว่า 1,800 ไร่ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ โดยในเหตุการณ์นั้นชาวบ้านและพระหลายรูปจากวัดป่ามหาวัน ซึ่งนับเป็นชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาทำการอนุรักษ์พื้นที่ป่าภูหลงนั้น ได้เข้าร่วมกันดับไฟป่าและลงสำรวจพื้นที่ความเสียหายหลังไฟป่าสงบลง
โดยใช้ความรู้ความสามารถและความถนัดของการก่อสร้างและออกแบบ ช.การช่าง ได้เข้าร่วมในการออกแบบและคิดค้นการทำแนวกันไฟและระบบดับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการสูญเสียในอนาคต ผ่านการทำถนนขึ้นหลังแปภูหลงและรอยต่ออุทยานเป็นแนวกันไฟ ก่อสร้างบ่อเก็บน้ำในที่สูงเพื่อเป็นแหล่งสูบน้ำสำรองหากเกิดกรณีไฟป่า การวางท่อน้ำในแนวกันไฟและติดตั้งระบบสปริงเกอร์ รวมทั้งร่วมมือกับชาวบ้าน องค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชนอื่น ๆ ในการปลูกป่าเพื่อชดเชยการสูญเสีย โดยมุ่งเน้นไปที่การดูแลรักษาแปลงหลังปลูก โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ช.การช่าง ได้ลงสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในการสร้างบ่อน้ำที่ 6 และ 7 เข้าร่วมประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำปะทาวและวางแผนงานป้องกันไฟป่าประจำปี 2568