ช.การช่าง จัดทำรายงานด้านความยั่งยืนโดยพิจารณาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท (Materiality Topic) ผ่านการประเมินปัจจัยภายในองค์กรและปัจจัยภายนอกองค์กร ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในห่วงโซ่คุณค่า

รวมถึงความเสี่ยงและโอกาสที่มีผลกระทบต่อธุรกิจตามหลักของ Double Materiality ครอบคลุมประเด็นในมิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของมาตรฐาน Global Reporting Initiative (GRI 3) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ช.การช่าง มีแนวทางในการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) ทุก ๆ 2 ปี โดยระหว่างนั้น จะเป็นการทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Revisit) ผ่านข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2567 นี้ ช.การช่าง ได้ดำเนินการทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท (Materiality Revisit) ผ่านการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของข้อกำหนด กฎระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย มาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับนานาชาติ ไปจนถึงแนวโน้มในระดับสากลในมุมมองของธุรกิจการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ช.การช่างได้ดำเนินการวิเคราะห์ ผลกระทบทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ (Positive and Negative Impacts) รวมไปถึงความเสี่ยง และโอกาส (Risks and Opportunities) และผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินธุรกิจของ ช.การช่าง และจากภายนอกห่วงโซ่คุณค่า โดยสำหรับขั้นตอนในการทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนนั้น มี 4 ขั้นตอนหลักดังนี้

ขั้นตอนที่ 1
การทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
ช.การช่างได้ดำเนินการรวบรวมและพิจารณาข้อมูลทางกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด (การเป็นผู้รับเหมาตรง (Main Contractor) และผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor)) และสำรวจผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 8 กลุ่ม (ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ลูกค้า, คู่ค้า, พนักงาน ชุมชนและประชาชน, ผู้ถือหุ้น นักลงทุนและนักวิเคราะห์, สื่อมวลชน และคู่แข่ง) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับ ช.การช่าง
นอกเหนือจากนั้น ยังได้มีการพิจารณาข้อมูลของบริษัทคู่เทียบ ที่มีการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกันกับ ช.การช่าง รวมถึงแนวโน้ม มาตรฐานด้านความยั่งยืน และกรอบการประเมินในระดับประเทศและระดับสากล และปรับเปลี่ยนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนให้ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานยุคปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 2
การระบุผลกระทบต่อห่วงโซ่คุณค่า
วิเคราะห์และระบุผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยครอบคลุมทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การคัดสรรคู่ค้าและจัดหาวัสดุก่อสร้าง การออกแบบทางวิศวกรรมและการก่อสร้าง การดำเนินการก่อสร้าง การส่งมอบโครงการ และการจัดการหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ สำหรับกิจกรรมสนับสนุนอื่น ๆ นั้น ประกอบด้วย การบริหารโครงสร้างพื้นฐานองค์กร การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงขอบเขตของผลกระทบที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้เสีย และความเชื่อมโยงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ช.การช่าง
ขั้นตอนที่ 3
การวิเคราะห์ผล
จากผลการรวบรวมประเด็นสาระสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ช.การช่าง ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ความร้อนแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted-Heat Map) จากการคำนวณผลคะแนนความสำคัญของแต่ละประเด็นที่มีนัยสำคัญ และจากการศึกษาบริษัทคู่เทียบ มาตรฐาน แนวโน้มและกรอบการประเมินในระดับประเทศและระดับสากล เช่น การประเมินความยั่งยืนของกลุ่มดัชนีดาวโจนส์ (Down Jones Sustainability Indices) คณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานทางบัญชีความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) การประเมินหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET ESG Ratings) ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะปรับเปลี่ยนการประเมินด้านความยั่งยืน โดย FTSE Russell เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4
การสรุปผลการทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน
ในการสรุปผลการทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของ ช.การช่าง ในปี 2567 นี้ ได้มีการแบ่งลำดับออกเป็น 2 ลำดับ ได้แก่ ประเด็นที่มีความสำคัญมาก (Material Topics) และ ประเด็นที่มีความสำคัญ (Non-Material Topics) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนการดำเนินการและการรับมือในอนาคต ตั้งแต่การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดหน่วยงานรับผิดชอบ การวางกลยุทธ์ กรอบการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น กลางและยาว การดำเนินการตามแผนงานกลยุทธ์ ไปจนถึงการติดตามผลการดำเนินการเพื่อนำมาพัฒนาการจัดการในอนาคต โดยผลการทบทวนประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนของ ช.การช่างนั้น ได้ผ่านการนำเสนอและเห็นชอบของคณะกรรมการและผู้นำบริษัทในการเปิดเผยข้อมูล