

การเคารพสิทธิมนุษยชน
ความมุ่งมั่น ความท้าทาย และโอกาส
เนื่องจากทุกขั้นตอนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่ามีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง พนักงานของ ช.การช่าง จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ โดยบริหารจัดการโครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ
ผู้รับเหมาเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกัน ชุมชนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานก่อสร้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มตลอดกระบวนการดำเนินงาน โดยพนักงานของผู้รับเหมา พันธมิตรทางธุรกิจ ลูกค้า และชุมชน ควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม หากขาดการบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม และปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทจะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงและเสื่อมเสียชื่อเสียง
การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 1:
เป้าหมายที่ 3:

ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการจัดการและแนวปฏิบัติ

ช.การช่าง มีความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานการปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งครอบคลุมพนักงาน คู่ธุรกิจ คู่ค้า ผู้รับเหมา ลูกค้า และชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจของบริษัท
นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) หลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) และปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ในปี 2567 ช.การช่าง ดำเนินการทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเพิ่มรายละเอียดให้มีความครอบคลุมประเด็นการดำเนินงานของพนักงานในระยะเวลาทำงานที่เหมาะสม การไม่ละเมิดสิทธิเด็ก การรวมกลุ่มอย่างเสรีและการเจรจาต่อรองกับนายจ้างของพนักงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบแรงงานของประเทศ
ปัจจุบัน บริษัท ช.การช่าง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) เพื่อประเมินความเสี่ยง ค้นหาแนวทางป้องกัน และวางมาตรการเยียวยาหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคม และยั่งยืนในระยะยาว
การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน
บริษัทได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการหรือคณะกรรมการลูกจ้าง ที่เปิดโอกาสให้พนักงานของ ช.การช่าง เข้าร่วม (ร้อยละ 100) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในกิจกรรมและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจที่ดีระหว่างพนักงานและบริษัท ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 96 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการของพนักงาน โดยมีการประชุมเป็นประจำทุกปีอย่างน้อย 1 ครั้ง
การประเมินความเสี่ยงและลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
ช.การช่างอยู่ระหว่างการวางแผนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการกำหนดคณะกรรมการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตามแนวทางของ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights ที่มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ เมื่อขั้นตอนการวางแผนแล้วเสร็จ ช.การช่าง มอบหมายให้หน่วยงานฝ่ายบุคคลและฝ่ายความเสี่ยงองค์กร รวมถึงคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ร่วมมือกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่พนักงานของ ช.การช่าง รวมถึงดำเนินการระบุและประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ที่ครอบคลุมผู้ทรงสิทธิ์และกลุ่มเปราะบาง เด็ก (Children) ผู้พิการ (Person with Disabilities) สตรี (Women) ชนกลุ่มน้อย (Minorities) ผู้อพยพ แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม (Third-party employees) ชนพื้นเมือง (Indigenous People) ชุมชนท้องถิ่น (Local Community) เพศทางเลือก (LGBTQI+) ผู้สูงอายุ (Senior Citizens) และสตรีตั้งครรภ์ (Pregnant Women) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และกำหนดมาตรฐานควบคุมความเสี่ยงระดับสูง (หากมี)
การแจ้งเบาะแสการละเมิดสิทธิมนุษยชน
บริษัทได้กำหนดช่องทางการแจ้งเบาะแสการละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกอย่างชัดเจน พร้อมทั้งมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนได้ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยดำเนินการบรรเทาความเสียหายผ่านกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งจัดทำมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2567
บริษัทได้ดำเนินมาตรการครอบคลุมเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานและความหลากหลายในองค์กร โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ สนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน การกำหนดหรือลดชั่วโมงการทำงานที่ไม่จำเป็น และให้ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ บริษัทยังส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมในที่ทำงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานเพราะเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ อายุ เพศสภาพ ความพิการ หรือสัญชาติ บริษัทได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและมีโอกาสในการเติบโตในสายอาชีพ โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอแก่พนักงานทุกระดับ เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างและเคารพในความแตกต่าง