ความมุ่งมั่น ความท้าทาย และโอกาส

ช.การช่าง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความแข็งแกร่งและลดความเสี่ยงในระยะยาว แม้จะต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นแต่สามารถประหยัดต้นทุนในระยะยาว บริษัทได้ดำเนินการผ่านกระบวนการคัดกรองและประเมินคู่ค้าและผู้รับเหมาอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมมาตรฐานและกฎระเบียบ พร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงด้านการเงินด้วยนโยบายการชำระเงินที่ชัดเจนสำหรับคู่ค้า ควบคู่กับการพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานและผู้รับเหมาเพื่อสร้างความตระหนักและยกระดับความปลอดภัยในการทำงาน

นอกจากการมุ่งเน้นลดผลกระทบทุกมิติจากห่วงโซ่อุปทาน บริษัทได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนผ่านการลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุลและยั่งยืน

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 8:
งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

คู่ค้า
การมีกระบวนการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างที่เสมอภาคและมีความเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการรวมกันผ่านกระบวนการคัดกรองที่เข้มงวด ทำใหเกิดมาตรฐานใหม่ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
พนักงาน
มีความปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้นรวมถึงความคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทั้งนี้ต้องปรับตัวตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดและมีความกดดันจากงาน
ลูกค้า
การบริหารจัดการที่ดีทำให้สามารถส่งมอบบริการที่ดีมีมาตรฐานให้แก่ลูกค้า
ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

เป้าหมาย
  1. คู่ค้ารับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  2. บริษัทมีการประเมินคู่ค้าทุกราย 100%
ผลการดำเนินงาน
คู่ค้ารับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
100%
ร้อยละ 100 คู่ค้ารายใหม่ หรือ 309 ราย ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล คิดเป็น
ร้อยละ
33
จากคู่ค้าทั้งหมด และไม่พบความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ

แนวทางการจัดการและแนวปฏิบัติ

บริษัทมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ภายใต้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนและจรรยาบรรณคู่ค้า

โดยจัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยง เพื่อทบทวนความเสี่ยงและวางแผนรับมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับองค์กร (Corporate Level) และระดับหน่วยงาน (Business Level) ที่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่กำหนดแนวทางและติดตามผลการดำเนินงาน ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการ เช่น ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง รับผิดชอบคัดเลือกและบริหารคู่ค้า ฝ่ายบริหารอาคารดูแลความปลอดภัยของผู้รับเหมา และฝ่ายตรวจสอบภายในเน้นการตรวจสอบความโปร่งใส ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน

นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

บริษัทให้ความสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งมั่นให้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นไปตามข้อกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ รวมถึงยึดมั่นในความโปร่งใส ความถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยผู้บริหารและพนักงานทุกคนของบริษัทมีหน้าที่ในการสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนนี้อย่างเคร่งครัด

จัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

คำนึงถึงความต้องการ ราคา การบริการ และคุณภาพสินค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

จริยธรรมทางธุรกิจ

จัดซื้อจัดจ้างโดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน แก่คู่ค้าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

กระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส

มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สนับสนุน Green Procurement

ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดหาผลิตภัณฑ์จากคู่ค้าท้องถิ่นและในประเทศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมหรือมาตรฐานเช่น ISO 14001

ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ชัดเจน

กำหนดรายละเอียดในข้อกำหนดและสัญญาให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและเป็นธรรม

สิทธิมนุษยชน

เลือกคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม และไม่สนับสนุนการใช้แรงงานทาส


จรรยาบรรณทางธุรกิจและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า

บริษัท กำหนด จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ (Supplier Code of Conduct) เพื่อให้คู่ค้ามีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับการบริหารงานของ บริษัท โดยใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกทั้งคู่ค้าปัจจุบัน (Current Approved Vendor) และคู่ค้ารายใหม่ (New Approved Vendor) ครอบคลุมด้านจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethics) สิทธิมนุษยชนและแรงงาน (Human Rights) อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน (Health and Safety) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ให้เป็นไปตามหรือเหนือกว่ามาตรฐานกฎหมายกำหนด บริษัทยังสนับสนุนให้คู่ค้าลงนามยืนยันการปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ (Supplier Code of Conduct) และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับคู่ค้าในการหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม การตรวจสอบศักยภาพและติดตามประเมินผลการทำงานของคู่ค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ทั้งยังจัดให้มีการประชุมรายเดือนกับคู่ค้าหลัก เป็นประจำทุกปี


การคัดกรองคู่ค้ารายใหม่และคู่ค้าปัจจุบัน

บริษัทมีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ (New Approved Vendor) และคู่ค้าปัจจุบันในการจัดซื้อจัดจ้าง (Current Approved Vendor) โดยพิจารณาคัดกรองจากความสามารถด้านสินค้าและบริการ รวมถึงประเด็นด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม สังคม สิทธิมนุยชนและแรงงาน รวมถึงธรรมาภิบาล จริยธรรมธุรกิจ (Environmental, Social, and Governance: ESG) อาทิ ความสามารถในการส่งมอบ การปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล การรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ผ่านแบบตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขายรายใหม่ แบบตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับเหมาช่วงรายใหม่ ซึ่งสะท้อนเห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ

บริษัทกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ทีจะเป็นคู่ค้ารายใหม่ (New Approved Vendor) และคู่ค้าปัจจุบันในการจัดซื้อจัดจ้าง (Current Approved Vendor) ตามนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านการประเมินด้านสินค้าและบริการ ประกอบกับการประเมินด้านความยั่งยืนซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญ ใน 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

  • ด้านสังคม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน เน้นย้ำการไม่ละเมิดสิทธิมนุยชน และ ยืนยันเรื่อง การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ เรื่องคุ้มครองแรงงาน ค่าจ้าง ค่าชดเชย เงินทดแทน เงินสมทบ ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิทางปัญญา รวมทั้งต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย เหมาะสม และเป็นระบบพร้อมทั้งมีการติดตามประเมินผลกระทบและกำหนดแผนการบริหารความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและยาวอย่างต่อเนื่อง
  • ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐานสำคัญและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียและมลพิษ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ด้านจริยธรรมทางธุรกิจ มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และปฏิบัติตามกฎหมาย มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทั้งมีการติดตามประวัติโครงการและสัญญาอย่างเป็นระบบ พร้อมกับมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางธุรกิจร่วมกันซึ่งเป็นหัวใจหลักของห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
ติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct)

ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดเกณฑ์การประเมินผู้ขายใน 4 ด้านสำคัญ

การคัดกรองคู่ค้ารายใหม่และคู่ค้าปัจจุบัน

บริษัทกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้าปัจจุบันในการจัดซื้อจัดจ้าง (Current Approved Vendor) ที่ครอบคลุมถึงประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อไปนี้

  • ด้านจริยธรรม:การปฏิบัติตามกฎหมาย เงื่อนไขตามสัญญาและข้อตกลง
  • ด้านความปลอดภัยการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งในด้านการจัดอุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติงาน
  • ด้านสิ่งแวดล้อมการควบคุมเรื่องฝุ่นละอองและมลพิษที่เกิดการจากการทำงาน และการกำจัดขยะจากงานก่อสร้าง

ติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ/หรือบรรษัทภิบาล

บริษัทได้กำหนดเกณฑ์การประเมินผู้ขายใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ด้านคุณภาพของสินค้า ร้อยละ 50, ด้านการส่งมอบ ร้อยละ 25, ด้านการประสานงานและการบริการ ร้อยละ 15 และ ด้านความรับผิดชอบ ร้อยละ 10

การกำหนดน้ำหนักการประเมินในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน และต้นทุนการแก้ไขงานที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่การให้น้ำหนักด้านการส่งมอบเป็นอันดับสอง แสดงถึงความสำคัญของการบริหารเวลาในโครงการก่อสร้าง ส่วนการประเมินด้านการประสานงานและความรับผิดชอบจะช่วยคัดกรองและพัฒนาคู่ค้าที่มีจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพในการทำงานร่วมกันในระยะยาว


การวิเคราะห์คู่ค้าสำคัญ

บริษัทได้จำแนกคู่ค้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ คู่ค้าสำคัญ (Critical Tier 1 Supplier) คู่ค้าทั่วไป (Non-Critical Tier 1 Supplier) และ คู่ค้าสำคัญที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง (Critical Non-Tier 1) โดยวิเคราะห์จำแนกจากยอดค่าใช้จ่าย (Spend Analysis) การวิเคราะห์ความสำคัญของผลิตภัณฑ์หรือบริการในการจัดซื้อจัดหา (Critical Analysis) และการวิเคราะห์ระดับของการพึ่งพาคู่ค้า (Dependent Analysis) ทำให้บริษัทสามารถวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า อย่างมีประสิทธิภาพ คู่ค้าของบริษัทประกอบด้วยคู่ค้าที่จัดหาวัสดุให้แก่บริษัท เป็นคู่ค้ารายสำคัญ (Critical Tier 1 Supplier) และคู่ค้าทั่วไป (Non-Critical Tier 1 Supplier) ได้แก่ ผู้รับเหมา ผู้จำหน่ายเครื่องจักร ตัวแทนจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ บริษัทจัดการของเสีย บริษัทขนส่งสินค้า เป็นต้น

ตัวชี้วัด 2567
จำนวนคู่ค้า Tier 1 ทั้งหมด (คู่ค้า Tier 1 ที่มีความสำคัญ) 1,597 ราย (27 ราย)
คู่ค้าประเภทผู้ขาย (คู่ค้าที่มีความสำคัญ) 479 ราย (11 ราย)
คู่ค้าประเภทผู้รับเหมา (คู่ค้าที่มีความสำคัญ) 1,118 ราย (16 ราย)

การประเมินความเสี่ยงคู่ค้าของบริษัท

การบริหารความเสี่ยงคู่ค้า รวมถึงการกำหนดแผนการพัฒนาคู่ค้า ดำเนินการเพื่อบริหารและประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลกิจการที่ดีของห่วงโซ่อุปทาน โดยประเมินครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจเช่น คุณภาพของสินค้า การส่งมอบ การประสานงานการบริการและด้านความยั่งยืน เช่น จรรยาบรรณ การปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนการจัดการสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม บริษัท มีการประเมินคู่ค้าทุกราย (100%) ทั้งความเสี่ยงระดับบริษัท และความเสี่ยงระดับหน่วยงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยแต่ละประเด็นมีรายละเอียดดังนี้

ประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงในการบริหารจัดการและความเสี่ยงจากความล่าช้าของโครงการ ความล่าช้าของโครงการอาจเกิดจากผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง หรือสาเหตุที่ไม่ระบุได้ โดยเฉพาะการล่าช้าเกี่ยวกับคู่ค้าและการจัดซื้อ เช่น การขาดแคลนวัสดุก่อสร้างบริษัทแก้ปัญหานี้ด้วยการทำสัญญาซื้อขายวัสดุล่วงหน้า เช่น ปูนซีเมนต์และเหล็ก เพื่อรองรับโครงการที่ได้ลงนามแล้ว ลดความเสี่ยงจากปัญหาวัสดุไม่เพียงพอ

แนวทางบริหารจัดการ บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทได้มีการทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์ และเหล็ก เพื่อรองรับโครงการของบริษัทที่ได้มีการลงนามในสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเสี่ยงจากราคาวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงาน และความผันผวนของราคาน้ำมัน การบริหารสัญญางานก่อสร้างส่งผลต่อกำไรขั้นต้น โดยขึ้นอยู่กับการประมาณการต้นทุนที่แม่นยำและควบคุมต้นทุนจริงให้สอดคล้องกับประมาณการ ปัจจัยสำคัญรวมถึงราคาวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนแรงงานที่เปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์-อุปทาน และภาวะราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน

แนวทางบริหารจัดการ บริษัทบริหารผ่านการทำสัญญาการก่อสร้างใน 2 ลักษณะ คือ

- กรณีที่สัญญาก่อสร้างมีการปรับราคาค่างานก่อสร้างตามสูตรการปรับราคา (Escalation Factor, K) ซึ่งค่า K ดังกล่าวจะอยู่ในรูปของค่าการคำนวณที่แปรผันตามต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสูตรดังกล่าวอาจไม่ครอบคลุมราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด แต่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและแรงงานที่มิได้คาดการณ์ไว้ทำให้มีผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างไม่มากนัก โครงการของกลุ่มบริษัทโดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าภาครัฐ

- กรณีสัญญาก่อสร้างที่เป็นจำนวนเงินคงที่หรือเป็น Lump-sum ซึ่งในสัญญาไม่ได้ระบุหรือไม่สามารถกำหนดเป็นค่า K ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับโครงการที่เป็น Turnkey Project โดยจะมีการรวมค่าเผื่อกรณีที่ราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างรวมไว้ในมูลค่ารวมของโครงการแล้วโดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน

การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG RISK)

บริษัทมีการประเมินคู่ค้าสำหรับโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงและระดับความรุนแรงของความเสี่ยงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) โดยแต่ละประเด็นมีรายละเอียดดังนี้

E - ประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับกฎหมาย การบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน มลพิษทางเสียงและแรงสั่นสะเทือน การใช้น้ำและปล่อยน้ำเสีย การใช้พลังงาน การจัดการของเสีย วัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ที่มีสารพิษ และ ได้รับการรับรองมาตฐานด้านสิ่งแวดล้อม หรือปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14000/EIA)

S - ประเด็นความเสี่ยงด้านสังคม ได้แก่ ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล การจัดการด้านแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎหมาย

G - ประเด็นความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ การต่อต้านทุจริต มีการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยของกระบวนการผลิต การแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และทรัพย์สินทางปัญญา

ในปี 2567 ร้อยละ 100 ของคู่ค้ารายใหม่ หรือ 309 ราย ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล คิดเป็นร้อยละ 33 จากคู่ค้าทั้งหมด และไม่พบความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ


การตรวจประเมินการดำเนินงานของคู่ค้า

บริษัทมีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประเมินประสิทธิภาพการทำงานรายปี (Yearly Performance Evaluation) โดยวิธีการ On-site Audit เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้ามีการดำเนินงานตามมาตรฐานของบริษัทและปฏิบัติตามตามจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ (Supplier Code of Conduct) ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักธรรมาภิบาล ส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

ในปี 2567 บริษัทได้ประเมินคู่ค้าปัจจุบันแบบ On-site Audit จำนวน 4 ราย โดยการเข้าเยี่ยมพื้นที่โดยตัวแทนของพนักงานจัดหาหรือหน่วยงานผู้ใช้งานคู่ค้า (2nd party assessment) และได้รับการตรวจประเมินโดยหน่วยงานที่ให้การรับรอง (Supplier On-Site Assessment by Third Party) ตามมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ISO9001 ISO14001 เป็นต้น โดยมีหัวข้อการตรวจประเมินดังต่อไปนี้

  • ด้านจริยธรรม การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และสิทธิมนุษยชน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เงื่อนไขของสัญญา
  • ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งในส่วนวิธีปฏิบัติงาน ขั้นตอน และอุปกรณ์ที่เหมาะสม
  • การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนด การจัดการน้ำ มลพิษ ขยะและของเสียอย่างเหมาะสม
  • ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความร่วมมือกับชุมชน

ในปี 2567 บริษัทได้ดำเนินการตรวจประเมินคู่ค้าจำนวน 134 ราย และผู้รับเหมาช่วงจำนวน 58 ราย โดยพิจารณาในด้านกำลังคน เครื่องจักร คุณภาพ แผนงาน ความร่วมมือ และความปลอดภัย ผลการประเมินส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีและดีมาก และไม่มีผู้ขายหรือผู้รับเหมารายใดอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการดำเนินงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน หรือการละเมิดด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจ

เกรด จำนวนผู้ขาย (ราย) คิดเป็น % จำนวนผู้รับเหมาช่วง (ราย) คิดเป็น %
A ดีมาก 93 69.40% 28 48.28%
B ดี 39 29.10% 29 50.00%
C พอใช้ 2 1.49% 1 1.72%
D ต้องปรับปรุง 0 0.00% 0 0.00%
รวม 134 100.00% 58 100.00%

ทั้งนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำ และสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคู่ค้าที่ไม่ผ่านการประเมิน เพื่อให้การดำเนินงานของคู่ค้าสอดคล้องกับมาตรฐานและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัท


การบริหารการชำระเงินให้แก่คู่ค้า

การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพและการดำเนินงานของบริษัทเพื่อบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพบริษัทได้วางนโยบายการชำระหนี้ที่ชัดเจนให้สอดคล้องกับระยะเวลาการรับเงินจากเจ้าของงาน บริษัทได้จำแนกประเภทคู่ค้าออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ผู้ขาย ผู้รับเหมาช่วง และผู้รับเหมาค่าแรง โดยกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการชำระเงินที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในเอกสารสั่งซื้อและสั่งจ้าง สำหรับผู้รับเหมาค่าแรงและผู้รับเหมารายย่อยจะได้รับการชำระเงินในระยะเวลาที่สั้นกว่าผู้รับเหมารายใหญ่และผู้ขายรายใหญ่ ตระหนักดีว่าการชำระเงินล่าช้าเกินกว่า 60 วันนับจากระยะเวลาที่ตกลงไว้ในเอกสารสั่งซื้อสั่งจ้าง อาจส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและความเชื่อมั่นด้านเครดิตที่คู่ค้ามีต่อบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทสามารถรักษามาตรฐานการชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 60 วัน

ตัวชี้วัด 2567
ร้านค้าและผู้รับเหมางวดเดียว (เฉลี่ย) 45 วัน
ผู้รับเหมาสองงวด 22 วัน