โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน
เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนตามทักษะและความถนัดของบริษัท และพนักงาน บริษัทได้ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ ช.การช่าง ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้นำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ในปี 2567 มีทีมช่างจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันและผ่านการคัดกรองจำนวน 97 ทีม โดยมี 12 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เบื้องต้น จากนั้นทีมที่มีศักยภาพสูงสุด 3 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชนประจำปีที่ 4 ได้แก่
1) กว้านดึงอวน จ.ประจวบคีรีขันธ์
2) หัวลากรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า จ.สมุทรสาคร
3) นาคกี้ พญานาคร่วมสมัย จ.บึงกาฬ
กว้านดึงอวน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กว้านขนาดเล็กส่งกำลังด้วยเครื่องยนต์ดีเซลหรือเบนซิน ช่วยลดจำนวนคนดึงอวนจาก 2-4 คน เหลือเพียง 1-2 คน และลดการใช้แรงในการดึงอวน ทำให้มีเวลาคัดปลามากขึ้น มีทั้งแบบเครื่องสแตนเลส 8 แรง ราคา 35,000 บาท และเหล็ก 5 แรง ราคา 20,000 บาท
หัวลากรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า จ.สมุทรสาคร
หัวลากรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้า มี 2 รุ่นเหมาะกับถนนเรียบและขรุขระ ขับไกลถึง 20 กม. ถอดออกจากรถเข็นง่าย เดินหน้า-ถอยหลัง, ไฟหน้า, ความเร็ว 30 กม./ชม. ราคา 12,000-15,000 บาท คนพิการสามารถเข้าถึงรถวิลแชร์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพได้ในราคาถูก
นาคกี้ พญานาคร่วมสมัย จ.บึงกาฬ
นาคกี้เป็นชิ้นงานเซรามิคที่ผลิตจากดินท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด "ดินบึงกาฬ น้ำปรุงบึงกาฬ อัตลักษณ์บึงกาฬ" โดยใช้ดินในพื้นที่ 70% ผสมดินลำปาง 30% อบที่ 1000°C พ่นสี ราคา 399 บาท ขายได้ 70-100 ตัว/เดือน สร้างรายได้ให้สามเณร 500-1000 บาท/เดือน
ในการสนับสนุนโครงการเพื่อชุมชนและสังคม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว การมีส่วนร่วมในชุมชนช่วยลดความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างบริษัทและชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้กระบวนการดำเนินงานโครงการของบริษัทมีความราบรื่น ลดต้นทุนการจัดการปัญหา อีกทั้งความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนยังช่วยสร้าง "Social License to Operate" ลดความเสี่ยงที่โครงการอาจถูกต่อต้านจากชุมชน รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์เชิงปริมาณที่บริษัท (ช.การช่าง) ได้รับจากโครงการ CSR in process หลายด้าน ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการ CSR ไม่เพียงสร้างประโยชน์ต่อชุมชน แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทในเชิงเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดังนี้
- ลดค่าใช้จ่ายด้านการอบรมและพัฒนาทักษะพนักงาน
การที่พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการ เช่น การให้คำปรึกษา การถ่ายทอดความรู้ หรือการจัดกิจกรรมในชุมชน ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร การพูดในที่สาธารณะ และการทำงานเป็นทีม โดยบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการส่งพนักงานเข้าอบรมในหัวข้อเหล่านี้ โดยประเมินมูลค่าลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 5,000-10,000 บาท ต่อปี
- สร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะการจัดการโครงการ
การเข้าร่วมโครงการช่วยให้พนักงานได้ฝึกการจัดการงานโครงการ (Project Management) และการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง ลดความจำเป็นในการลงทุนจัดอบรมหรือจ้างที่ปรึกษาภายนอกในการพัฒนาทักษะเหล่านี้
- ส่งเสริมความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement)
การมีส่วนร่วมในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความภักดีของพนักงาน ลดต้นทุนการสรรหาพนักงานใหม่ (Recruitment Cost) และต้นทุนการฝึกอบรมพนักงานใหม่โดยเฉลี่ยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาและฝึกอบรมได้ประมาณ 50,000 บาทต่อพนักงานที่รักษาไว้ได้ 1 คน
- ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารความขัดแย้งในชุมชน
โครงการ CSR in process ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ลดความเสี่ยงที่โครงการจะถูกต่อต้านหรือหยุดชะงัก ซึ่งอาจลดต้นทุนการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ได้ถึง 500,000 บาทต่อโครงการ
- ส่งเสริมการคิดค้นหรือพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ช.การช่าง ส่งตัวแทนพนักงานเข้าร่วมโครงการช่างชุมชนเพื่อฝึกอบรมทักษะการช่าง รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดกับช่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของบริษัทที่จะพลักดันความคิดสร้างสรรค์เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริษัท ช.การช่าง